ผ้าทอ
ประวัติความเป็นมา
ผ้าทอกะเหรี่ยงหมายถึง การทอผ้าของชุมชนชาวไทยกะเหรี่ยงในเขตวัฒนธรรมราชบุรี มีเอกลักษณ์ที่กรรมวิธีการทอผ้าด้วยกี่เอว การทอผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลัง ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซี่เล็กๆ สอดด้ายพุ่ง และใช้ไม้แผ่นกระแทกเส้นด้ายให้แน่น ผ้าทอกะเหรี่ยงมีลักษณะวิธีการทอโดยทำลวดลายบนผ้าซิ่น (หนึ่ย) ตัวซิ่นทอลายมัดหมี่สีแดงอมส้มสลับลายทอยกดอก ตีนซิ่นทอลายจกแล้วเย็บกับตัวซิ่น ส่วนเสื้อ (ไช่) ทำลวดลายด้วยวิธีการปัก ลวดลายด้านในและด้านนอกจะสวยงามสวมใส่ได้ ๒ ด้าน ชนิดของผ้าแบ่งเป็น ๕ ประเภท ดังนี้ ๑. เสื้อผู้ชาย, ๒. เสื้อผู้หญิง สีขาว (ไชอั่ว) เป็นเสื้อยาวคลุ่มเข่าใช้สวมใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยมีประจำเดือน เสื้อสีน้ำเงิน (ไช่โพล่ง) เป็นเสื้อที่แสดงถึงการที่ผู้หญิงแต่งงานแล้ว ตัวเสื้อยาวคลุ่มเข่า คอวี ปักลวดลายรอบตัว, ๓. ย่าม, ๔. ผ้าโพกหัว, ๕. ผ้าอื่นๆลวดลายมี ๔ กลุ่มลาย ดังนี้ ๑. ลายอ่องกึ้ย, ๒. ลายอ่องทา, ๓. ลายหนึ่ยไก๊ย, ๔. ลายเฉะ
ผ้าทอกะเหรี่ยงมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อสังคม เป็นมรดกภูมิปัญญาทางศิลปะพื้นบ้านชาวไทยกะเหรี่ยงที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและอารยธรรมของกลุ่มชนและท้องถิ่น ซึ่งผ้าทอกะเหรี่ยงกับการแต่งกายจะบ่งบอกสถานภาพทางสังคม แสดงให้เห็นคุณวุฒิทางจริยธรรมและการควบคุมความประพฤติของผู้สวมใส่ควบคู่กับความสวยงามของลวดลาย ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้นำผ้ามาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การนำมาใช้ในการสืบสานประเพณีกินข้าวห่อ การส่งเสริมให้พัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และการส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดความรู้ให้อยู่กับชุมชน
สภาวการณ์ปัจจุบัน ผ้าทอกะเหรี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม คือ การขาดแคลนช่างทอผ้ากะเหรี่ยงรุ่นใหม่ เพราะผู้ทอส่วนใหญ่มักจะเป็นสตรีสูงอายุเริ่มมีจำนวนลดน้อยถอยลง ทำให้ขาดช่วงการสืบทอดความรู้ การหมดความนิยมในการใช้ และกลายเป็นแค่สัญลักษณ์ของคนกะเหรี่ยง การขาดความต่อเนื่องและขาดความริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาผ้าทอ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าทอกะเหรี่ยงและหาทางป้องกันมิให้เสื่อมสูญ เพราะผ้าทอกะเหรี่ยงมีคุณค่าในวัฒนธรรมประเพณี มีคุณค่าความงามที่แสดงลักษณะเฉพาะท้องถิ่น มีภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ และมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมการสร้างอาชีพในท้องถิ่น จึงนับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้และให้คงอยู่กับลูกหลานชาวกะเหรี่ยงต่อไป
ข้อมูลทั่วไป
ที่อยู่ : บ้านห้วยแห้ง หมู่ 5 ตำบล ตะนาวศรี อำเภอ สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี