สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ และผู้สูงอายุ ในพื้นที่สาธารณะ มีอะไรบ้าง?
ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ และผู้สูงอายุ
ในพื้นที่สาธารณะ มีอะไรบ้าง?
สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ คงเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากภาพร่างกายที่ถูกจำกัด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ ปัจจุบันทางภาครัฐ จึงได้มีนโยบายให้อาคารบริการสาธารณะต่าง ๆ จัดสรร สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ และผู้สูงอายุขึ้น ตามหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เรามาดูกันว่า หลักการออกแบบอารยสถาปัตย์คืออะไร? และสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นมีอะไรบ้างค่ะ
ประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 2 ล้านคน และมีผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคน ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะพื้นที่และบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบโดยไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานของผู้พิการและผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่และบริการต่าง ๆ ได้ จนกลายเป็นการปิดกั้นและอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทางภาครัฐ จึงเห็นชอบให้ร่างกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุขึ้น เพื่อปรับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถใช้งานและเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกับผลักดันนโยบายการออกแบบที่เรียกว่า “อารยสถาปัตย์” ขึ้น
อารยสถาปัตย์ (friendly-design) คือ การออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับการใช้งานของคนทุกคน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ สามารถเข้าถึงบริการพื้นที่ และบริการสาธารณะต่าง ๆ ในสังคมได้ โดยสะดวกและปลอดภัย ซึ่งอารยสถาปัตย์ จะออกแบบด้วยหลักการ 9 ข้อ คือ
- สะดวก (Convenience)
- ปลอดภัย (Safety)
- ใช้งานง่าย (Easy to use)
- เป็นธรรม (Fairness)
- เท่าเทียม (Equity)
- เชื่อมโยงทั่วถึง (Inclusivity)
- ยืดหยุ่น (Flexibility)
- ทันยุคทันสมัย (Modernization)
- มาตรฐานสากล (International standard)
หลักการเหล่านี้ จะถูกนำมายึดเป็นหลักการในการออกแบบทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยทางภาครัฐกำหนดให้พื้นที่และบริการเหล่านี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการและผู้สูงอายุ ตามหลักการออกแบบอารยสถาปัตย์ ได้แก่ อาคารที่ให้บริการสาธารณะ (เช่น หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา ห้องสมุด) สถานพยาบาล (เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข อนามัย) และอาคารที่ทำการของราชการ (เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย)
รวม 7 สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ และผู้สูงอายุ ในพื้นที่สาธารณะ
ณ ปัจจุบัน พื้นที่และบริการสาธารณะต่าง ๆ ได้มีการนำหลักออกแบบอารยสถาปัตย์นี้ ไปใช้ในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งมีหลัก ๆ 7 อย่างด้วยกัน เรามาดูกันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกแต่ละแบบควรมีลักษณะอย่างไร และมีอะไรบ้างค่ะ (อ้างอิง คู่มืออารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ของสสส.)
1.ที่จอดรถ ที่จอดรถสำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์หรือผู้พิการ ต้องมีลักษณะเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และมีพื้นที่ว่างข้างที่จอดรถโดยรอบ ไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพื่อให้เพียงพอสำหรับการเปิดประตูและให้คนใช้รถเข็นวีลแชร์ สามารถเคลื่อนย้ายตัวระหว่างรถเข็นวีลแชร์และตัวยานพาหนะได้ โดยกำหนดให้มีที่จอดรถผู้พิการ 1 คัน ต่อที่จอดรถของบุคคลทั่วไป 100 คัน โดยให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุก 100 คัน เช่น หากมีที่จอดรถสำหรับคนทั่วไป 200 คัน ก็ให้มีจำนวนที่จอดผู้พิการอย่างน้อย 2 คัน เป็นต้น
2.ทางลาด เนื่องจากผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ไม่สามารถเดินขึ้น-ลงบันได้ได้ จึงจำเป็นต้องใช้ทางลาดในการสัญจรแทน ซึ่งทางลาดที่เหมาะสม ควรสูงชันไม่เกิน 5 องศา ความกว้างของทางลาด ไม่น้อยกว่า 90 ซม. พื้นผิวทางลาดต้องไม่ลื่น เมื่อเปียกน้ำหรือฝนตก และควรมีชานพักบริเวณที่เป็นประตูหรือทางเข้าออก ขนาด 1.50 เมตร ขึ้นไป อีกทั้งควรมีราวจับทั้งสองฝั่งของทางลาด เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถใช้จับได้
3.ลิฟต์ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 110 ซม. และยาวไม่น้อยกว่า 140 ซม. ส่วนประตูลิฟต์ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และควรเป็นระบบเซนเซอร์ เพื่อป้องกันประตูลิฟต์หนีบผู้ใช้งาน ผู้พิการและผู้สูงอายุ ต้องสามารถควบคุมระบบลิฟต์ด้วยตนเองได้ โดยปุ่มหรือแผงควบคุม ปุ่มล่างสุดอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 90 ซม. ปุ่มบนสุดอยู่สูงจากพื้นไม่เกินกว่า 120 ซม. และต้องมีราวจับรอบตัวลิฟต์ เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถใช้จับยึดได้
4.โต๊ะนั่ง ควรมีความกว้างใต้โต๊ะ ไม่น้อยกว่า 40 ซม. เพื่อให้สามารถเข็นรถเข็นวีลแชร์เข้าไปภายในได้อย่างพอดี อีกทั้งความสูงของโต๊ะ ขอบบนจนถึงพื้น ควรสูงประมาณ 80 ซม.
5.ห้องน้ำ พื้นที่ห้องน้ำควรมีระดับเสมอกับพื้นที่ภายนอก ควรมีพื้นที่ว่างภายในห้องน้ำ เพื่อให้รถเข็นหมุนตัวกลับได้ ไม่ควรน้อยกว่า 1.50 เมตร พื้นห้องน้ำ ไม่ควรลื่น สามารถกันน้ำ และทำความสะอาดง่าย ภายในห้องน้ำควรมีปุ่มหรือสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ภายนอกได้ โดยต้องมีป้ายระบุชัดเจน ส่วนอุปกรณ์และสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ ควรมีลักษณะดังนี้
- ราวจับ ด้านที่ไม่ติดผนังควรใช้แบบพับเก็บได้ เพื่อไม่ให้กินพื้นที่ ด้านที่ติดผนังควรใช้เป็นรูปตัวแอล เพื่อช่วยในการทรงตัว
- โถส้วม ควรใช้แบบเป็นชักโครก คือ มีถังเก็บน้ำด้านหลัง (flush Tank) และมีก้านหรือปุ่มกดน้ำที่ด้านหลัง
- โถปัสสาวะชาย คันกดชักน้ำ ควรติดเหนือพื้นอยู่ที่ประมาณ 110 ซม. หรืออาจใช้เป็นระบบอัตโนมัติ ควรมีราวจับในแนวนอนอยู่ด้านบน ยาวไม่น้อยกว่า 50 – 60 ซม. พื้นที่รอบโถปัสสาวะชาย ควรมีที่ว่างอย่างน้อย 90 x 120 ซม. เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย
- อ่างล้างหน้า ควรใช้แบบแขวนผนัง เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับรถเข็นวีลแชร์สามารถเข้าไปได้ โดยขอบอ่างอยู่ห่างจากผนัง ไม่น้อยกว่า 0.45 เมตร และควรมีราวจับแบบติดผนังอยู่ทั้ง 2 ด้าน เพื่อช่วยในการทรงตัว
- อ่างอาบน้ำ ควรมีราวจับแนวดิ่งและแนวนอน อย่างน้อย 0.60 เมตร
- ประตู มีความกว้างอย่างน้อย 90 ซม. ประตูที่ใช้ควรเป็นประตูบานเลื่อน เพื่อความสะดวกต่อการเข้า-ออกของผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ และระบบล็อกควรจะเป็นแบบตะขอสับ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือจากด้านนอกในกรณีฉุกเฉินได้
อ่านบทความ : ห้องน้ำผู้สูงอายุ ปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุ เรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้!
6.ทางเดิน ในกรณีเป็นทางเดินเข้า – ออกอาคาร ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เป็นพื้นผิวเรียบเสมอกันไม่ลื่นไม่มีสิ่งกีดขวาง อยู่ในระดับเดียวกับพื้นถนนภายนอกอาคาร หรือพื้นที่ลานจอดรถ ส่วนฝาปิดท่อระบายน้ำ หรือฝาปิดรางระบายน้ำ ควรใช้ตะแกรงเหล็กที่มีช่องตะแกรงกว้างไม่เกิน 1.3 เซนติเมตร
ส่วนทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร ควรกว้างอย่างน้อย 90 ซม. แต่ความกว้างที่สามารถให้รถเข็นสามารถสวนกันได้โดยความสะดวกที่สุด ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ป้ายหรืออุปกรณ์ที่แขวนในทางเดิน ควรแขวนสูงจากระดับพื้นไม่ต่ำกว่า 2.0 เมตร เพื่อให้คนเดินผ่านได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ในบริเวณที่เป็นทางแยกหรือทางเลี้ยว ให้มีพื้นผิวต่างสัมผัส สำหรับคนตาบอด และต้องมีผนังหรือราวกันตกทั้งสองด้าน สำหรับทางที่ต้องหักเลี้ยว 180 องศา ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร
7.ป้ายสัญลักษณ์ หากเป็นป้ายบอกหมายเลขหน้าห้องหรือตัวอักษร ให้มีอักษรเบรลล์กำกับ โดยป้ายควรสูง 120 -150 ซม. ส่วนสัญลักษณ์หรือตัวอักษร แสดงประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนใช้รถเข็นวีลแชร์ ให้เป็นสีขาว ส่วนพื้นป้ายให้เป็นสีน้ำเงิน
ที่มา https://allwellhealthcare.com/friendly-design/