สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
มาทำความรู้จักสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คือ การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบมาเพื่อคนทุกกลุ่ม ทุกสภาพร่างกายให้สามารถเข้าถึงบริการ หรือ สถานที่ต่าง ๆ ให้ใช้ได้อย่างสะดวก เท่าเทียม และ ปลอดภัย
อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 กำหนดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน '5'ประเภท สำหรับคนพิการ และ ผู้สูงอายุ ดังนี้
- ที่จอดรถ
- ทางลาด
- ป้ายสัญลักษณ์
- ห้องน้ำ
- จุดบริการข้อมูล ข่าวสาร
ต่อไปเรามาทำความเข้าใจถึงประโยชน์ ความจำเป็น รวมถึงการการออกแบบที่ถูกต้อง เป็นมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของแต่ละประเภทกันครับ
ที่จอดรถ กำหนดให้มีที่จอดรถสำหรับคนพิการตามกฎกระทรวงตามสัดส่วนที่จอดรถทั่วไป 10-50 คัน จัดให้มีที่จอดรถคนพิการ 1 คัน ที่จอดรถทั่วไปมี 51-100 คัน จัดให้มีที่จอดรถคนพิการ 2 คัน และ ทุก ๆ 100 คันขึ้นไปของที่จอดรถทั่วไป จัดให้มีที่จอดรถคนพิการเพิ่ม 1 คัน
ที่จอดรถสำหรับคนพิการมีลักษณะสำคัญ คือ
- ควรอยู่ใกล้กับทางเข้า-ออก อาคารมากที่สุด และ ไม่ขนานกับทางเดินรถสัญจรทั่วไป
- ช่องจอดรถ มีขนาดความกว้าง 2.4 เมตร ยาว 6 เมตร
- มีที่ว่างด้านข้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร
- มีสัญลักษณ์บนพื้นรูปคนพิการขนาด 90x90 เซนติเมตร ติดแสดงชัดเจน
-
มีป้ายสัญลักษณ์ในแนวตั้งสูงจากพื้น 2 เมตร ขนาดป้ายไม่น้อยกว่า 30x30 เซนติเมตร
ทางลาด กำหนดให้มีทางลาด ทางเชื่อม เข้าอาคาร ต้องได้มาตรฐาน คือ
- ความชันของทางลาดไม่เกิน 1:12 คือความสูงต่อความยาวของทางลาด
- พื้นผิวทางลาดเรียบ ไม่ลื่น
- ทางลาดความยาวตั้งแต่ 2.5 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับทั้ง 2 ข้าง
- ความยาวทางลาดน้อยกว่า 6 เมตร กำหนดให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
- ทางลาดความยาวเกิน 6 เมตร ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร และ มีชานพักทุก ๆ 6 เมตร
-
ราวจับสูงจากพื้นระหว่าง 80-90 เซนติเมตร มีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร
ป้ายสัญลักษณ์ คือ ป้ายติดแสดงบ่งชี้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการใช้งาน มีลักษณะสำคัญ คือ
- ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ รูปคนพิการเพื่อแสดงนำทางไปยังสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
- ป้ายสัญลักษณ์กำหนดเป็นพื้นหลังสีน้ำเงิน ตัวหนังสือสีขาว หรือสลับกัน พื้นหลังสีขาว ตัวหนังสือสีน้ำเงิน
-
ติดแสดงป้ายสัญลักษณ์ในตำแหน่งที่ชัดเจน สามารถมองเห็นได้สะดวกทั้งกลางวันและกลางคืนห้องน้ำ จัดให้มีห้องน้ำในตำแหน่งที่สามารถเข้าใช้ได้สะดวก มีลักษณะสำคัญ คือ
- พื้นที่ว่างภายในมีความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร
- พื้นห้องน้ำมีระดับเสมอกับพื้นภายนอก หากเป็นพื้นต่างระดับเกิน 2 เซนติเมตร ต้องมีทางลาดความชันตามสัดส่วนความสูงต่อความยาว
- วัสดุพื้นผิวห้องน้ำไม่ลื่น
- ประตูควรเป็นบานเลื่อน หากเป็นบานเปิดควรเปิดออกด้านนอกสามารถเปิดได้ไม่น้อยกว่า 90 องศา
- ช่องความกว้างของประตูต้องไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
- อ่างล้างมือสูงจากพื้นถึงขอบบนของอ่างไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 80 เซนติเมตร
- ระยะกึ่งกลางของโถส้วมห่างจากผนัง 45-50 เซนติเมตร
- ติดตั้งราวจับในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เหมาะสม
- มีปุ่มกดฉุกเฉินส่งสัญญาณเสียง ในกรณีขอความช่วยเหลือ
จุดบริการข้อมูล ข่าวสาร มีลักษณะ คือ
- มีโต๊ะ หรือ เคาน์เตอร์บริการ ที่คนพิการทุกประเภทสามารถเข้าถึงได้
- โต๊ะ หรือ เคาน์เตอร์บริการ มีความสูงจากพื้นไม่เกิน 80 เซนติเมตร เป็นลักษณะพื้นที่ว่าง
-
ความลึกของโต๊ะ หรือ เคาน์เตอร์ ต้องไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร